Pages

ปทุมธานี ตลาดไท

R&D

Monday, August 7, 2023

หมูกล่อง

หมูกล่อง และอันตรายต่อธุรกิจหมูไทย

หมูกล่องคืออะไร?

หมูกล่องคือ เนื้อหมูแช่แข็งบรรจุกล่อง ที่มีการลักลอบนำเข้ามายังประเทศไทย ในตู้คอนเทนเนอร์ โดยการสำแดงพิกัดภาษีศุลกากรเป็นเท็จ เช่น สำแดงเป็นปลาแช่แข็ง และอื่นๆ ก่อนที่จะกระจายไปยังแหล่งจำหน่ายต่างๆ ในประเทศไทย

หมูกล่องเริ่มนำเข้าเมื่อไร?

เนื่องจากเป็นการลักลอบนำเข้า เราจึงไม่สามารถทราบแน่ชัดว่า เริ่มมีการลักลอบนำเข้าตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดกันว่า เนื่องจากในช่วงปี 2564 ที่การผลิตสุกรไทยได้รับผลกระทบกระเทือนจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน ทำให้ผลผลิตหมูลดลงไปประมาณ 30% (จาก 50,000 ตัว/วัน เหลือประมาณ 35,000 ตัว/วัน) ในช่วงเวลาที่หมูขาดนั้น น่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ

ทราบได้อย่างไรว่า มีการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเข้ามาในประเทศ?

ตอนแรกสุด ประมาณปี 2565 พี่น้องผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย สังเกตจากการมีประกาศขายเนื้อหมูแช่แข็งทางเฟซบุ๊คและทางหน้าร้าน ในราคาที่ต่ำกว่าเนื้อหมูในประเทศมากๆ พี่น้องจึงเริ่มสงสัยว่ามีการลักลอบนำเข้ามา 

ดังนั้น จึงมีความพยายามในการเข้าไปตรวจสอบห้องเย็นต่างๆ และในปลายปี 2565 เริ่มมีการพบเนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาในห้องเย็นบางแห่ง และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่ในปัจจุบัน

ต่อมา เมื่อกรมศุลกากรทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกกักไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังจึงพบว่า ตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่งแข็งจากต่างประเทศ และได้ประสานกับกรมปศุสัตว์เพื่อทำลายเนื้อหมูแช่แข็งดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะมีหมูกล่องที่ลักลอบนำเข้าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังอีกเกือบ 1,000 ตู้ และพี่น้องผู้เลี้ยงสุกรมีการประสานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้รวดเร็วและโปร่งใส

หมูกล่องนำเข้ามามากน้อยเพียงใด?

เนื่องจากเป็นการลักลอบนำเข้า เราจึงไม่สามารถทราบ/คาดการณ์ปริมาณนำเข้าที่ชัดเจนได้ แต่หากพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าเนื้อปลาแช่แข็งที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในช่วงปี 2564-2565 ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย คาดว่า จะมีหมูกล่องลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยกว่า 15,000 ตู้ และบางท่าน คาดการณ์ว่า ปริมาณเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าน่าจะประมาณ 20% ของเนื้อหมูในตลาด

ทั้งนี้ ตัวเลขการนำเข้าปลาแช่แข็งที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศที่เป็นผู้ส่งออกหมู (ไม่ใช่ปลา) เช่น สเปน และบราซิล นอกจากนี้ ในกรณีของบราซิล ยังมีสื่อรายงานว่าบราซิลได้เพิ่มการส่งออกเนื้อหมูมายังประเทศไทยด้วย

หมูกล่องอันตรายอย่างไรต่อธุรกิจหมูไทย?

การลักลอบนำเข้าหมูกล่อง เป็นอันตรายต่อธุรกิจหมูไทยใน 4 ประเด็นคือ (ก) ทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศตกต่ำ แถมยังตกต่ำในช่วงเวลาที่ธุรกิจหมูไทยต้องพยายามฟื้นฟูตนเองจากวิกฤติโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน ดังนั้น สถานการณ์ราคาที่ตกต่ำจึงทำให้ (ข) เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่สามารถฟื้นฟูตนเองได้ เพราะปัจจุบันขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน (ราคาประมาณ 66-70 บาท/กก. ต้นทุนประมาณ 90 บาท/กก.) จนบางรายต้องออกจากธุรกิจไป

ขณะเดียวกัน เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาจะไม่ผ่านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพ ดังนั้น (ค) ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยทางอาหาร เช่น เป็นการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง เป็นต้น และยังทำให้เกิด (ง) ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคสุกร ที่อาจติด/ปนเปื้อนมากับเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามา เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกรที่ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน

สุดท้าย การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งในปริมาณที่มากขนาดนี้ ย่อมสะท้อนความย่อหย่อนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และ/หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่แฝงตัวอยู่ในระบบ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เพราะฉะนั้น การป้องกันการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

แล้วเราจะป้องกันหมูเถื่อน (หรือ หมูกล่อง) ได้อย่างไร?

ในเบื้องต้น พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ

(ก) เร่งติดตามการดำเนินคดีและการขยายผลการดำเนินคดีที่มีมาแล้วอย่างจริงจังกับผู้เกี่ยวข้องในการลักลอบนำเข้าทุกฝ่าย (ทั้งผู้นำเข้า ชิปปิ้ง ห้องเย็น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง) รวมถึงให้หน่วยงานเปิดเผยความคืบหน้าให้สาธารณชนทราบเป็นระยะ

(ข) เข้มงวดกับการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้าอาหารแช่แข็ง และห้องเย็นต่างๆ ที่เก็บเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าเพิ่มเติมอีก

(ค) การติดตาม/ตรวจสอบการขายเนื้อหมูในราคาที่ต่ำผิดปกติว่า เนื้อหมูที่นำมาขายมีที่มาอย่างไร และมาจากการลักลอบนำเข้า